สถานที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน อาคารเลขที่ ๑๙๒ หมู่ที่ ๒ ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ๕๑๐๐๐ โทรศัพท์ ๐๕๓ – ๕๖๓๑๖๓ ,โทรสาร ๐๕๓ – ๕๖๓๑๖๓ ต่อ ๑๐๕
ความเป็นมา
วิทยาลัยสงฆ์ลำพูนในสังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ในนามคณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า ศรัทธาประชาชนชาวจังหวัดลำพูน ซึ่งจากเดิมตามมติของคณะสงฆ์ผู้ร่วมก่อตั้งได้มีมติให้ใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยสงฆ์ล้านนา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไปในจังหวัดลำพูนและใกล้เคียง ได้มีโอกาสศึกษาวิชาการชั้นสูงทางพระพุทธศาสนาควบคู่กับวิชาการทางโลก มีความรู้คู่คุณธรรม เสียสละอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา สังคม และประเทศชาติ และมีเป้าหมายที่จะขยายการศึกษาให้ทั่วถึงแก่พระภิกษุสามเณรในเขตภาคเหนือตอนบนและประเทศเพื่อนบ้านให้ได้รับการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิตและวงการคณะสงฆ์ให้มีความเจริญงอกงาม เป็นสถาบันหลักทางสังคมได้อย่างตามภาคภูมิใจ อีกทั้งเป็นการวางแผนเพื่อรองรับนโยบายการศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ทั่วไปที่สนใจจะศึกษา โดยได้ทำการจัดการเรียนการสอนในคณะครุศาสตร์ วิชาเอกสังคมศึกษา ขึ้นเป็นคณะแรก ต่อมา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ศูนย์การศึกษา วัดพระธาตุหริภุญชัยจึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน” ซึ่งได้ยึดถือพันธกิจของมหาวิทยาลัยคือ การผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการแก่สังคม และงานทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อีกทั้งได้ทำงานตามนโยบายคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ ควบคู่กับการจัดการเรียนการสอน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้เปิดทำการเรียนการสอนคณะพุทธศาสตร์ วิชาเอกพระพุทธศาสนา พุทธศักราช ๒๕๔๘ ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนคณะสังคมศาสตร์ วิชาเอกการบริหารรัฐกิจ พุทธศักราช ๒๕๔๗ ได้เปิดสอนโครงการหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.วค.) เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาด้านวิชาชีพครูแก่พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป พุทธศักราช ๒๕๔๘ ได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์เพื่อส่งเสริมให้พระภิกษุ สามเณร พระสังฆาธิการได้ศึกษาพัฒนาองค์กรและตนเอง ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ คุณเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน ซึ่งเป็นทายาทเจ้าครองนครลำพูน ได้ถวายที่ดิน ๒ แปลง จำนวน ๒๘ ไร่ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๐๘๔๖ ๙๒๗๙๓ (ทั้ง ๒ แปลงติดกัน) ในเขตพื้นที่บ้านสันต้นธง ตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างอาคารเรียนวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน อาคารหลังที่ ๑ ได้รับงบประมาณการก่อสร้างจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน เงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท อาคารหลังที่ ๒ ดำเนินการก่อสร้างโดยได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากคณะสงฆ์ และประชาชนจังหวัดลำพูน จำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พุทธศักราช ๒๕๔๗ ได้ย้ายจากวัดพระธาตุหริภุญชัย ไปที่ตั้งใหม่ถนนลำพูน – ป่าซาง เขตบ้านสันต้นธง ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งห่างจากที่เดิมประมาณ ๒ กิโลเมตร
การดำเนินการได้มีความต่อเนื่องและพัฒนามาดังนี้
วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณาราชวิทยาลัย วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑ ก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ นี้ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน”ตามราชกิจจานุเบกษาเล่ม๑๑๕ ตอนพิเศษ ๑๐๐ ง พุทธศักราช ๒๕๔๒ เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา พุทธศักราช ๒๕๔๗ ได้ย้ายจากวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร มาตั้ง ณ ปัจุบันนี้ ซึ่งคุณเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน ทายาทอดีตเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ถวายที่ดินจำนวน ๒๐ ไร่ พุทธศักราช ๒๕๕๐ เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์) พุทธศักราช ๒๕๕๖ เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ พุทธศักราช ๒๕๕๗ เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ พุทธศักราช ๒๕๕๘ เปิดการเรียนการระดับปริญญาโท สอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา
ปัจจุบัน วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ดำเนินการเปิดการเรียนการสอน หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) โดยการอนุมัติของสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผ่านการรับรองมาตรฐานหลักสูตรจากทบวงมหาวิทยาลัย ได้รับการรับรองคุณวุฒิจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้รับการรับรองและกำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งข้าราชการครูจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.) โดยได้จัดการศึกษาแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ดังนี้
ระดับปริญญาเอก
๑. หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พธ.ด.)
ระดับปริญญาโท
๑. หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา (พธ.ม.) ๒. หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.)
ระดับปริญญาตรี
๑.คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา (พธ.บ.) ๒.คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา (ค.บ.) ๓.คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาตร์ (รป.บ.) ๔.คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (ศศ.บ.)
ระดับประกาศนียบัตร
๑. หลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.)